กินชาเขียวทุกวันดีไหม-by-Doctor-Healthcare

ชาเขียวเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ “ฟลาโวนอยด์” ซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งบางชนิดและโรคหัวใจ แต่ในชาเขียวก็พบสารคาเฟอีน ส่งผลเสียต่อร่างกายได้หากได้รับมากจนเกินไป ทั่วไปมักแนะนำให้ดื่มชาเขียว 3-5 ถ้วยต่อวัน แต่ขีดจำกัดของปริมาณชาเขียวที่ควรทานในแต่ละวันขึ้นกับสุขภาพพื้นฐานของแต่ละคน

 

 green-tea-ชาเขียว-ประโยชน์

 

ชาเขียว…คืออะไร

ชาเขียวทำมาจากอะไร ได้จากธรรมชาติหรือเกิดจากการสังเคราะห์ ??? ชาเขียว ชาดำ และชาอู่หลง มาจากพืชที่มีชื่อว่า Camellia sinensis โดยชาเขียวเป็นใบชาที่ยังไม่ได้ผ่านการบ่ม ดังนั้นชาเขียวจึงเป็นชาที่มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ (ORAC value) มากสุดคิดเป็น 1,253 มีสารฟลาโวนอยด์ถึง 30% ของน้ำหนักใบชาแบบแห้ง

ชาดำ (Black tea) ชาดำคือใบชาเขียวที่ผ่านการบ่มด้วยความร้อน ทำให้สี รสชาติ และประโยชน์ต่างจากชาเขียว แม้ว่าชาดำจะมีสารต้านอนุมูลอิสระน้อยกว่าชาเขียว แต่ต่างกันเพียงเล็กน้อย พบ ORAC value ในชาดำคิดเป็น 1,128

ทั้งชาเขียวและชาดำมีสารคาเฟอีนโดยชาดำมีปริมาณคาเฟอีนมากกว่า แต่ชาทั้งสองมีคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟหรือเครื่องดื่มเพิ่มพลังงาน energy drink อื่น จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่ไม่สามารถทนต่อคาเฟอีนได้ นอกจากนั้น มีงานวิจัยที่พบว่าสารคาเทชิน (Catechin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกตัวที่มีประโยชน์อย่างมาก พบในชาเขียวมากว่าชาดำถึง 4 เท่า อย่างไรก็ตาม ชาทั้งสองอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยในการลดการอักเสบ ล้างสารพิษ และเสริมประสิทธิภาพของระบบภูมิต้านทาน

ประโยชน์ของชาเขียว

ปริมาณชาเขียวที่แนะนำให้ดื่มต่อวันเพื่อประโยชน์แก่ร่างกาย แตกต่างกันไปในแต่ละงานวิจัย  ปริมาณทั่วไปที่พบว่าเป็นประโยชน์คือ 3-5 แก้วต่อวัน

  1. หัวใจ

การดื่มชาเขียว 4 ถ้วยต่อวัน ฟลาโวนอยด์และสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของประเทศญี่ปุ่นที่เก็บข้อมูลนาน 11 ปี มีผู้เข้าร่วมงานวิจัยนี้ 40,000 คน อายุ 40-79 ปี พบว่าผู้ที่ดื่มชาเขียว 4 ถ้วยต่อวันป่วยเป็นโรคหัวใจน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่มเลย และยังพบว่าช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดความเครียดลง 20% ในผู้ที่ดื่มชาเขียว อย่างน้อยวันละ 5 แก้ว

การดื่มชาเขียวช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) และป้องกันการสะสมพลัคไขมันตามผนังหลอดเลือด ลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และยังพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์คล้ายยารักษาโรคหัวใจ ส่งผลให้เพิ่มปริมาณเลือดที่ได้จากหัวใจบีบตัวและลดระดับความดันโลหิตได้

2. ชะลอการทำลายของเซลล์ประสาท

ข้อมูลในปี 2007 พบว่าสารฟลาโวนอยด์ที่ชื่อคาเทชิน พบได้ในบลูเบอร์รี่ โกโก้ องุ่น และชา ช่วยเพิ่มความจำในหนู และคาเทชินยังเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น มีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าคาเทชินป้องกันเซลล์สมองถูกทำลาย สามารถซึมผ่านเข้าสู่สมองได้โดยตรง และลดการสะสมของคราบพลัคของเสียด้วยกลไกที่ยังไม่ทราบแน่ชัด

  1. ลดความหิว

หลายคนได้ยินสรรพคุณการเผาผลาญไขมันหรือช่วยลดน้ำหนักจากชาเขียว จากงานวิจัยพบว่าสารกลุ่มคาเทชิน EGCG ช่วยการเผาผลาญเมตาบอลิซึม และอาจช่วยในการป้องกันน้ำหนักเพิ่ม ในปี 2009 ข้อมูลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Obesity พบว่าสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มคาเทชินที่ผสมกับคาเฟอีนช่วยลดน้ำหนักและช่วยให้น้ำหนักคงที่ แต่ก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมเนื่องจากข้อมูลบางส่วนก็พบเพียงช่วยเสริมกระบวนการเมตาบอลิซึมแต่ไม่ได้ทำให้น้ำหนักเปลี่ยนแปลง

  1. โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็ง

ด้วยคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระในชาเขียวที่ช่วยลดความดันโลหิต ลดระดับคอเลสเตอรอลและการอักเสบ ภาวะเหล่านี้เป็นปัจจัยการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง และเบาหวาน ชาเขียวจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเรื้องรังได้

ผลเสียจากการดื่มชาเขียวมากเกินไป

คาเฟอีนปริมาณเพียงเล็กน้อยมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากได้รับมากเกินไปจะก่อให้เกิดผลเสีย เช่น ปวดศีรษะ กระวนกระวาย นอนไม่หลับ หงุดหงิด ใจสั่น มึนงง แสบร้อนหน้าอก คาเฟอีนที่พบในชาเขียวมีปริมาณต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อ ชาเขียวหนึ่งแก้วให้คาเฟอีนประมาณ 100 มิลลิกรัม ตามที่แนะนำคือไม่ควรทานเกิน 5 ถ้วยต่อวัน เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงข้างต้น ในขณะเดียวกัน การทานคาเฟอีนเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้เนื่องจากสูญเสียแคลเซียมออกไปกับปัสสาวะ

คาเทชินยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก

คาเทชินจะลดการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารที่เรารับประทาน ธาตุเหล็กมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อร่างกายขาดธาตุเหล็กทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ดังนั้นการดื่มชาเขียวซึ่งมีคาเทชินอาจทำให้เกิดโลหิตจางได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่าปริมาณชาเขียวที่ดื่มทั่วไปไม่ก่อให้เกิดภาวะนี้ แต่ควรระวังในคนที่ทานอาหารเสริมที่มีชาเขียวเป็นส่วนประกอบ เพราะอาจมีปริมาณคาเทชินมากกว่าปกติ

สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังมีประจำเดือน ควรดื่มชาเขียวก่อนหรือหลังมื้ออาหารอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง และชาเขียวอาจรบกวนประสิทธิภาพของยาคลายเครียดหรือยาต้านซึมเศร้า

ฝ่ายสุขภาพของ Havard กล่าวว่า สำหรับผู้ที่สุขภาพแข็งแรง แม้ว่าการดื่มชาเขียวปริมาณทั่วไป ไม่พบว่ามีผลเสียร้ายแรง แต่งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่าเอนไซม์ตับสูงขึ้นเล็กน้อย และชาเขียวยังเป็นแหล่งที่มีสาร oxalate มาก อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดนิ่วไตได้ ดังนั้นควรดื่มไม่เกิน 5 ถ้วยต่อวัน จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า