กลุ่มโรคที่คุณสร้างเอง NCD-by-Doctor-Healthcare

 สาเหตุการเสียชีวิตของประชากรไทยได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ในอดีต คนไทยเสียชีวิตมากเพราะโรคติดเชื้อที่แพร่ระบาดไปได้ทั้งทางน้ำ อากาศ หรือโดยพาหะนำโรคชนิดต่างๆ เรียกว่า “โรคติดเชื้อ” ปัจจุบันการตายของประชากรไทยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินอยู่และการใช้ชีวิตของตนเอง สาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญในปัจจุบันได้แก่ โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง เอดส์ โรคเบาหวาน โรคระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งอุบัติเหตุบนถนน

         ncd-non-comunicated-disease

 จากการรายงานขององค์การอนามัยโลก พ.ศ.2551 การเสียชีวิตของประชากรโลก 36 ล้านคนมีสาเหตุมาจากกลุ่มโรค NCD (Non Communicating Disease) หรือโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ สาเหตุมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตไม่เหมาะสมรวมทั้งพฤติกรรมการบริโภค การออกกำลังกาย และความเสื่อมตามอายุ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง และโรคเบาหวาน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 63 ของการเสียชีวิตทั้งหมดของประชากรโลก (จากทั้งสิ้น 57 ล้านคน)

 รายงานภาระโรค NCD พบว่าในปี พ.ศ.2553 การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากที่สุด คือ 15.62 ล้านคน รองลงมาคือ โรคมะเร็ง จานวน 7.98 ล้านคน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จำนวน 2.9 ล้านคนและโรคเบาหวาน จำนวน 1.28 ล้านคน มีการประมาณการว่า การเสียชีวิตจากโรค NCD จะเพิ่มขึ้นในแต่ละปี

โรค NCD เป็นฆาตกรฆ่าคนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งคือ 300,000 คนต่อปี ซึ่งมากกว่าสาเหตุการเสียชีวิตอื่นๆ ทุกสาเหตุรวมกันถึง 3 เท่า และยังก่อปัญหาและภาระกับคนรอบข้างผู้ป่วย ทำลายคุณภาพประชากร และยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล โดยรัฐต้องแบกรับต้นทุนที่เกิดจากโรคNCD ถึง 200,000  ล้านบาทต่อปี ทุกๆ ปี จะมีคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นปีละ 8,000 คน

 

ncd1

 

“การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ค่าใช้จ่ายร้อยละ 80 จะหมดไปในช่วง 2 ปีสุดท้ายของชีวิต หากรัฐจะลงทุนเพื่อป้องกันโรคจะใช้งบประมาณ 12 ล้านบาทต่อคน แต่ถ้าจะใช้งบในการรักษาโรค จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ซึ่งประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคเรื้อรังคิดเป็นร้อยละ 73 มากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ในโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 63 ที่สำคัญคือ คนป่วยไม่รู้ตัวว่าตัวเองป่วย โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง พบว่า ร้อยละ 60 ไม่รู้ว่าตัวเองป่วยเนื่องจากไม่มีอาการ

พฤติกรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยของโรค NCD เช่น การสูบบุหรี่ การบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณมาก การไม่ออกกำลังกาย และน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน ปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยกลุ่มโรค NCD ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตรวจพบโรคได้ในอายุน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีแนวโน้มการเกิดโรคเรื้อรังเหล่านี้มากขึ้นหากยังไม่มีการทำความเข้าใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต