โอเมก้า 3 มีประโยชน์อย่างไร-by-Doctor-Healthcare

คุณรู้หรือไม่ว่าประเทศที่มีประชาชนอายุยืน สุขภาพดี คุณภาพชีวิตดีที่สุดคือประเทศใด

คำตอบนี้หลายคนอาจจะรู้อยู่แล้ว คือ”ชาวญี่ปุ่นที่เมืองโอกินาว่า”ไม่เพียงแต่อายุยืนแต่ยังดูอ่อนกว่าวัย คำถามคืออะไรคือศาสตร์แห่งความลับนั้น

ความลับที่ถูกเปิดเผย

จากแหล่งข้อมูลพบว่าอาหารที่ชาวโอกินาว่าทานนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระ(Antioxidants) และโอเมก้า 3 จากปลาทะเลที่มากกว่าที่อื่นๆ นั่นหมายความว่าถ้าคุณเริ่มหันกลับมาปรับเปลี่ยนการทานอาหารให้มีสารต้านอนุมูลอิสระและโอเมก้า 3 มากขึ้น จะช่วยให้คุณดูอ่อนเยาว์และดูดีขึ้นในแบบของคุณ

โอเมก้า 3 จัดเป็น “กรดไขมันจำเป็น” คือสารอาหารที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้ ต้องได้รับเพิ่มจากการทานอาหาร แหล่งที่พบได้ตามธรรมชาติ ได้แก่ ปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ซาร์ดีน เทราต์ แมคเคอเรล กุ้งลอบสเตอร์ ถั่ววอลนัท เมล็ดเชีย เมล็ดแฟกซ์ ส่วนในไทยแหล่งที่พบได้แต่มีปริมาณโอเมก้า 3 น้อยกว่า เช่น ปลาจะละเม็ดขาว ปลาสำลี ปลาสวาย ปลาดุก เป็นต้น

 

omega3-fish-oil

 

3 รูปแบบของโอเมก้า 3 ที่คุณควรรู้

เรามักได้ยินคนพูดถึงโอเมก้า 3 และ ดีเอชเอ(DHA) บ่อยๆ แล้วหลายครั้งก็สับสนว่าเป็นตัวเดียวกันหรือไม่ หรือแตกต่างกันอย่างไร ข้อเท็จจริงคือ โอเมก้า 3 มี 3 รูปแบบ รูปแบบที่แตกต่างกันมาจากแหล่งที่มาหรือหน้าที่ที่ต่างกันด้วย

DHA (Docosahexaenoic acid) ดีเอชเอ / EPA (Eicosapentaenoic acid) อีพีเอ  เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในระบบประสาท จอตา และสารตั้งต้นในการสร้างฮอร์โมนหรือปฏิกิริยาที่สำคัญของร่างกาย พบได้ในปลาและอาหารทะเลบางชนิด

ALA (Alpha-linolenic acid) เอแอลเอ ใช้เป็นพลังงานในร่างกาย พบได้ในพืชบางชนิดพบว่า ALA ในร่างกายมนุษย์สามารถเปลี่ยนเป็น EPA และ DHA ได้น้อยมาก

คุณประโยชน์ของโอเมก้า 3 ต่อระบบต่างๆ

จากข้อมูลมากมายที่กล่าวถึงประโยชน์ของกรดไขมันโอเมก้า 3 ด้วยประโยชน์ที่หลากหลายจึงเป็นที่ยอมรับและได้รับชื่อว่า “The Natural Anti-inflammatory หรือ สารต้านการอักเสบจากธรรมชาติ” ที่ช่วยเสริมการทำงานของร่างกายในระบบต่างๆ

หัวใจและหลอดเลือด บทบาทสำคัญของโอเมก้าที่เป็นที่ยอมรับ คือ

  • ช่วยลดอัตารการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี(LDL) และลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์(Triglyceride) ซึ่งเป็นไขมันที่ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตีบตัน
  • ลดการอุดตันของและกระบวนการอักเสบของหลอดเลือด

ระบบประสาท DHA และ EPA เป็นสารประกอบที่สำคัญของระบบประสาททั้งในเด็กและผู้ใหญ่

  • พบว่าคนสูงอายุจะมีภาวะสมองถูกทำลายน้อยกว่าหากทานปลาเป็นประจำ
  • มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเป็นอัลไซเมอร์และสมองเสื่อม
  • มีรายงานว่าช่วยเสริมทักษะด้านพัฒนาการการเรียนรู้ในเด็กสมาธิสั้น (ADHD)

ลดอาการปวดข้ออักเสบ พบว่าในผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่ได้รับน้ำมันปลาที่มีโอเมก้า 3 ชนิด DHA และ EPA ช่วยลดอาการปวดข้อ และข้อติด เสริมการทำงานกับยาแก้ปวดแก้อักเสบ

ผิวหนัง กรดไขมันโอเมก้า 3 นอกจากจะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างให้เยื่อหุ้มเซลล์แล้ว ยังช่วยลดการอักเสบของผิวหนังและเก็บกักความชุ่มชื้นของผิวอีกด้วย บางที่จึงใช้โอเมก้า 3 เพื่อเสริมการรักษาโรคสิว ผื่นผิวหนังอักเสบ(Eczema) สะเก็ดเงิน

การชะลอวัย นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโอเมก้า 3 อาจมีผลต่อการยืดอายุขัย ชะลอการเสื่อมของร่างกาย (หาข้อมูลเพิ่มเติมได้เกี่ยวกับ Telomere and omega 3)

นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยที่ศึกษาคุณสมบัติการออกฤทธิ์การต้านกระบวนการอักเสบของโอเมก้า 3 ที่ช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน หอบหืด ลดความเสี่ยงมะเร็ง

 

ปริมาณโอเมก้า 3 ที่แนะนำ

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ระบุถึงสาเหตุของ 10 อันดับการเสียชีวิตชาวอมริกาและคนส่วนใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ “การได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ไม่เพียงพอ” และข้อมูลสนับสนุนอีกหลายอย่างทำให้เกิดการรณรงค์ครั้งใหญ่ในการปรับพฤติกรรมการทานอาหาร และปฏิรูปการผลิตอาหารในหลายๆที่ ตามที่ สมาคมโรคหัวใจอเมริกา(American Heart  Association) แนะนำปริมาณโอเมก้า 3 คือ

  • ผู้ที่ไม่มีประวัติการเจ็บป่วยทางโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด(Coronary Heart Disease ) ควรได้รับน้ำมันปลาจากอาหารเป็นจำนวน 2 หน่วยบริโภค/สัปดาห์ คิดเป็น 4 กรัม/สัปดาห์
  • ผู้ที่มีประวัติการเจ็บป่วยทางโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรได้รับน้ำมันปลาที่มี DHA และ EPA รวมปริมาณ 1,000 มก./วัน
  • ผู้ที่ตรวจพบไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง(รวมทั้งกำลังทานยาลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์) ควรได้รับน้ำมันปลาที่มี DHA และ EPA รวมปริมาณ 2,000-4,000 มก./วัน
  • ผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทานเพื่อช่วยลดอาการปวดข้อ ควรได้รับน้ำมันปลาที่มี DHA และ EPA รวมปริมาณ 3,000-5,000 มก./วัน

ซึ่งโดยทั่วไปการได้รับโอเมก้า 3 จากอาหารตามธรรมชาติอาจไม่เพียงพอ ทางการแพทย์จึงแนะนำให้ทานโอเมก้า 3 ที่เป็นรูปแบบอาหารเสริม อย่างไรก็ตามหากทานโอเมก้า 3 ปริมาณตั้งแต่ 3,000 มก. ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทาน เนื่องจากบางรายอาจได้รับผลข้างเคียงจากการทานโอเมก้า 3 ได้ คือ ภาวะเลือดออกง่าย

สารปรอทที่ตกค้างในปลาคือสิ่งที่ต้องระวัง

ทั่วไปแล้ว สารปรอท(Mercury) ที่พบในมลพิษทางอากาศเป็นผลมาจากขบวนการอุตสาหกรรม โดยตัวสารปรอทนั้นสามารถละลายตามแหล่งน้ำต่างๆและมหาสมุทรได้ สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้นย่อมได้รับสารปรอทเข้าไปเกิดการตกค้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อคนดื่มน้ำหรือบริโภคอาหารที่มาจากแหล่งน้ำนั้น การสะสมปริมาณสารปรอทจนถึงระดับหนึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายโดยเฉพาะเด็กในครรภ์และเด็กเล็ก ทำให้มีอาการความผิดปกติของระบบประสาทและอวัยวะอื่นได้

ดังนั้นตามห่วงโซ่อาหารแล้วสัตว์น้ำหรือสาหร่ายที่เราทานมีโอกาสที่พบสารปรอทตกค้างได้ ปริมาณแตกต่างกันไป ปลาทะเลน้ำลึกที่เป็นแหล่งของโอเมก้า 3 ตามธรรมชาติก็เช่นเดียวกัน โดยปลาที่พบว่าทานได้ มีสารปรอทตกค้างไม่มาก เช่น แซลมอน ซาร์ดีน เฮอร์ริ่ง แมคเคอเรล ทูน่ากระป๋อง ปลาที่พบว่ามีสารปรอทตกค้างมากควรหลีกเลี่ยง เช่น ฉลาม ทูน่าพันธ์อัลบาคอร์

ข้อจำกัดอย่างนึงของคนที่ต้องการทานโอเมก้า 3 คือเราต้องมั่นใจได้ว่ามาจากแหล่งน้ำที่ปลอดจากสารปรอทหรือมีการปนเปื้อนน้อยมาก แต่อย่างที่เราทราบถึงประโยชน์ที่มากมายของโอเมก้า 3 นั้นทำให้เห็นว่าการได้รับโอเมก้า 3 ที่พอเหมาะเป็นสิ่งสำคัญ เพียงแต่เราต้องใส่ใจในการเลือกทานให้มากขึ้นเพื่อเป็นผลดีต่อตัวเราเอง